หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

5 ปัจจัยเสี่ยงทำร้ายมดลูก

5 ปัจจัยเสี่ยงทำร้ายมดลูก
   ศาสตราจารย์นายแพทย์สมบูรณ์ คุณาธิคม เลขาธิการราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย มาตอบคำถาม‘ปัญหาสุขภาพมดลูก’ อย่างกระจ่าง ...ดังนี้
   “สิ่งแรกๆ ที่ทำให้เราทราบว่าเกิดความผิดปกติกับมดลูกและระบบสืบพันธุ์ของสตรี คือ การเกิดเลือดออกผิดปกติ และประจำเดือนที่คลาดเคลื่อน หรือขาดหายไป ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากระบวนการทำงานของฮอร์โมนที่ผิดปกติ และมีต้นเหตุจากหลายประการ...”
  • ระบบในร่างกายทำงานผิดปกติ “ในกรณีที่พยาธิสภาพของรังไข่ของบางคนอาจมีการทำงานที่ผิดปกติอยู่แล้ว เช่น การทำงานของต่อมไทรอยด์อาจมีปัญหา จึงส่งผลให้การผลิตฮอร์โมนเพื่อมาควบคุมรังไข่ทำงานไม่เป็นไปตามปกติ ...นี่เป็นส่วนเดียวที่เราไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติได้ นอกเหนือจากนั้นเราต้องรู้จักดูแลตัวเองครับ”
  •  อ้วนเกิน-ผอมเกิน-เครียดเกิน “บางคนอ้วนมากเกินไป บางคนผอมเกินไป หรือ บางคนก็เคร่งแครียด และวิตกกังวลมากๆ ทั้งสามปัจจัยนี้อาจส่งผลให้ต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมนไปควบคุมการทำงานของรังไข่ทำงานได้ไม่เป็นปกติไปจนถึงยับยั้งการตกไข่ คนกลุ่มนี้จึงมักมีปัญหาประจำเดือนคลาดเคลื่อนไปจนถึงขาดหาย หรือมีเลือดออกผิดปกติได้”
  • ยา และอาหารทำร้ายมดลูก “ทุกวันนี้มีคนที่รับยา(ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณ) หรือสารอาหารบางประเภทที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนผสมอยู่เยอะๆ ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว สิ่งเหล่านี้เป็นอีกเรื่องที่คอยระวัง เพราะอาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งโพรงมดลูกได้”

    นอกจากนี้คุณหมอสมบูรณ์บอกว่า การป่วยเป็นโรคเบาหวานก็อาจส่งผลร้ายทำให้เป็นโรคมะเร็งที่เกี่ยวกับมดลูกได้ สอดคล้องกับที่ดร.สาทิส อินทรกำแหง กูรูของชาวชีวจิตเคยอธิบายไว้ว่า การรับประทานอาหารหวาน หรือขนมหวานต่างๆ มากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นซีสต์ที่มดลูกหรือรังไข่ และนำมาซึ่งการเป็นมะเร็งเกี่ยวกับมดลูกได้ต่อไป ดังนั้นหากคุณผู้หญิงคนไหนชื่นชอบการทานขนมหวาน หรือกำลังประสบปัญหาโรคเบาหวานอยู่ ต้องดูแลระมัดระวังตัวเองให้ดีนะคะ
  • เพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ “การเกิดการอักเสบติดเชื้อภายในมดลูก จะเริ่มต้นมาจากการติดเชื้อที่ช่องคลอดก่อน แล้วเข้ามาสู่มดลูก ท่อนำไข่ (ปีกมดลูก) และรังไข่ ซึ่งเรียกโดยรวมว่าเป็นอาการ ‘อุ้งเชิงกรานอักเสบ’ ซึ่งส่วนใหญ่อาจมีผลมาจากการมีเพศสัมพันธุ์ที่เสี่ยง คือ คู่สมรสมีคู่นอนหลายคนทำให้โอกาสที่จะได้รับเชื้อบางอย่างที่ทำให้มีการอักเสบนั้นเกิดได้สูง ยกเว้นเพียงในบางรายเท่านั้นที่เราพบว่ามีอาการไส้ติ่งอักเสบแล้วเรื้อรังมาอักเสบต่อยังปีกมดลูกได้”
‘ป้องกันและแก้ไข’ ให้มดลูกแข็งแรง
   “สำหรับคนที่ยังไม่เจ็บป่วย สุขภาพที่ดีของมดลูกเป็นผลโดยอ้อมจากการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้สมบูรณ์แข็งแรงครับ เพราะเมื่อสุขภาพเราดี กินอาหารที่ไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย พักผ่อนเพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การทำงานของฮอร์โมนในร่างกายก็จะเป็นปกติ และส่งผลให้มดลูกและรังไข่มีการเปลี่ยนแปลงตามรอบเดือนได้อย่างที่ควรจะเป็นเช่นกัน” 
   “แต่สำหรับใครที่เกิดปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมา เราสามารถแก้ไขตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านั้นให้กลับมาเป็นปกติได้ ยกตัวอย่างเช่น คนที่น้ำหนักมากเกินก็ควรลดน้ำหนักลงมา ซึ่งเพียงคุณลดได้สักร้อยละ 5-10 จากน้ำหนักตัวเดิม ประจำเดือนก็จะเริ่มมาเป็นปกติขึ้นแล้วครับ” 
   “ส่วนเรื่องยาและอาหารเสริมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนปริมาณมากก็ควรเลี่ยง และต้องดูแลสุขภาพให้ดี โดยเฉพาะหากเป็นโรคเบาหวานก็ต้องรักษาให้หายขาด และออกกำลังกายสม่ำเสมอ”
   ต่อไปนี้เป็น ‘ท่าบริหารช่องคลอดเพื่อสุขภาพมดลูก และป้องกันกระบังลมหย่อน’ ที่คุณหมอแนะนำค่ะ
   “สำหรับคุณผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตร นอกจากบริหารเพื่อให้หน้าท้องและรูปร่างกลับมาสมส่วนเหมือนเดิมแล้ว การกายบริหารบริเวณช่องคลอดก็มีความสำคัญ เพราะสตรีที่คลอดลูกหลายครั้งมักมีอาการ ‘กระบังลมหย่อน’ หรือ ‘มดลูกหย่อน’ แต่แก้ไขได้ไม่ยาก คือ หลังจากแผลทำคลอดหายเจ็บแล้ว ให้ใช้‘วิธีขมิบก้นแล้วคลาย’ ซ้ำๆ ประมาณ 50-100 ครั้งต่อวัน สามารถทำได้แทบทุกเวลาแม้ทำกิจกรรมอื่นอยู่ การทำแบบนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อที่หย่อนอยู่บริเวณรอบๆ ผนังช่องคลอดแข็งแรงขึ้น”
   นอกจากนี้ เราขอแนะนำ ‘ท่าแถม’ ซึ่งเป็นท่าสุดท้ายของการรำกระบอง ที่ชาวชีวจิตทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดีค่ะ ท่านี้ช่วยกระตุ้นการทำงานของอัณฑะและรังไข่ได้เป็นอย่างดี
   เริ่มจากยืนตัวตรง กางขาเล็กน้อย หลังจากนั้นนำกระบองมาไว้ด้านหลังลำตัวบริเวณเอวโดยใช้สองแขนคล้องเอาไว้ นำฝ่ามือมาประสานกันหรือวางราบตรงหน้าท้อง หลังจากนั้นเขย่งปลายให้สูงที่สุดเท่าที่ทำได้ และลดตัวลงนั่งโดยยังเขย่งปลายเท้าอยู่ ตามองตรง หลังตรงไม่ก้ม และขย่มตัวให้ก้นแตะส้นเท้า 3 ครั้ง และค่อยๆ ยืนขึ้น ทำแบบนี้ประมาณ 20-30 ครั้งต่อวันค่ะ
   นอกจากการออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของมดลูกแล้ว คุณหมอสมบูรณ์ยังแนะนำว่า การอยู่แบบ ‘คู่สามี-ภรรยาเดียว’ ก็ช่วยแก้ปัญหาเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ทุกประเภท เพียงแต่สิ่งเหล่านี้ต้องปฏิบัติจริงจัง จะพูดแต่เพียงลมปากไม่ได้ค่ะ
ไขข้อคาใจ ‘เรื่องเล่า’ เกี่ยวกับมดลูก
  • ทำไมคนวัย 40 ปีขึ้นไปจึง ‘ตัดมดลูก’ กันเยอะขึ้น

    “เหตุผลที่คนวัย 40-45 ปีขึ้นไปผ่าตัดมดลูกกันเยอะ เป็นเพราะโรคที่เกี่ยวกับมดลูกนี้มักจะแสดงอาการเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไปแล้วเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ในวัยรุ่น หรือวัยสาวมักจะไม่ค่อยเป็นกัน ส่วนเหตุผลที่ผู้ป่วยแต่ละคนจะ ‘ตัด’ หรือ ‘ไม่ตัด’ มดลูกนั้น ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ครับ” 

    “เราพิจารณาโรคที่เกี่ยวกับมดลูกออกเป็น ‘โรคที่ไม่ร้ายแรง’ ก็ได้แก่ เนื้องอกมดลูก และมดลูกหรืออุ้งเชิงกรานอักเสบ โรคพวกนี้ถือว่าไม่ร้ายแรง ส่วนใหญ่ทำการรักษาแต่ไม่ผ่าตัด ยกเว้นในกรณีที่บางโรคก่อความรำคาญหรือก่อปัญหาต่อสุขภาพมากๆ เช่น ในกรณีของมดลูกหรืออุ้งเชิงกรานอักเสบ หากทำให้ปวดท้องเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง เพราะมีพังผืดเยอะ รักษาด้วยยาแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น หรือในกรณีของเนื้องอกในมดลูก หากมีขนาดใหญ่มาก หรือทำให้มีประจำเดือนมากๆ หรือไปกดเบียดทำให้ปัสสาวะไม่สะดวก กรณีเหล่านี้อาจจะมีการพิจารณาให้ผ่าตัดมดลูกได้เช่นกัน” 

    “ต่อมาคือ ‘โรคที่ร้ายแรง’ ได้แก่ โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคมะเร็งรังไข่ อันนี้ก็ต้องมีกระบวนการรักษาตามแบบของโรคมะเร็งต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีการผ่าตัดออกครับ” 
  • นั่งยองๆ เป็นอันตรายต่อมดลูกจริงหรือ
    “ก็เคยได้ยินเหมือนกันครับว่า หลายคนไม่กล้านั่งยองเพราะกลัวมดลูกหย่อน แต่จริงๆ แล้วสาเหตุที่ทำให้มดลูกคนสตรีเกิดอาการ ‘หย่อน’ ได้นอกจากการคลอดบุตรแล้วก็ยังมีอีกหลายสาเหตุ เช่น คนที่ท้องผูกเรื้อรัง ไอเรื้อรัง หรือคนที่ยกของหนักเป็นประจำ (ไม่ว่าจะอยู่ในขณะนั่งยองหรือไม่) ก็จะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มสูงขึ้นจนไปดันให้มดลูกเคลื่อนตัวลงมาได้ แต่การนั่งยองๆ เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการยกของหนักร่วมด้วยไม่มีผลทำให้มดลูกหย่อนได้ครับ” ...แต่คุณหมอบอกว่า ถ้าใครประสบปัญหานี้อยู่ไม่ต้องกังวล เคล็ดลับ ‘การบริหารช่องคลอด’ ที่แนะนำไปข้างต้นช่วยได้ค่ะ
  • ผ่าตัดคลอด VS. คลอดธรรมชาติ 

    - ความเชื่อแรก แผลจากการคลอดธรรมชาติหายเร็วกว่าแผลจากการผ่าตัดคลอด’ “จริงๆ แล้ว ‘ลักษณะแผล’ ของทั้งสองวิธีนี้ต่างกันครับ คือแผลของการผ่าตัดคลอดเป็นแผลที่หน้าท้องกับผนังมดลูก และมักมีขนาดยาวกว่าแผลจากการคลอดธรรมชาติซึ่งเป็นแผลจากการผ่าที่ช่องคลอดตำแหน่งเดียว จึงทำให้อาจหายช้ากว่าเท่านั้น แม้ว่าในอดีตแพทย์จะลงแผลผ่าตัดคลอดในแนวตรงทำให้แผลหายช้ากว่าบ้าง และต้องระวังมดลูกปริแตกได้ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป แต่ในปัจจุบันนี้แพทย์ส่วนใหญ่ลงแผลในแนวขวาง และลงในส่วนล่างของมดลูก แถมเทคนิคการผ่าตัดทุกวันนี้ก็ช่วยลดการเกิดพังผืดได้ ปัญหาเดิมๆ จึงไม่ค่อยมีแล้วครับ”

    - ความเชื่อต่อมา ‘คลอดธรรมชาติมดลูกเข้าอู่เร็วกว่าผ่าตัดคลอด’ “จริงๆ แล้วทั้งสองวิธีนี้ให้ผลไม่ต่างกันครับ เพราะโดยหลักการ การกลับคืนสู่ขนาดปกติของมดลูกก็ทำได้ในเวลาเท่ากัน เพียงแต่เมื่อผนังมดลูกเคยยืดตัวออกไปแล้วตอนคลอด ทำให้ไม่ว่าจะคลอดด้วยวิธีใดคุณแม่ก็จำเป็นต้องออกกำลังกาย และการบริหารอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทุกอย่างกลับมาเข้าที่อยู่ดี” 
  • สารพัดข้อคาใจเรื่อง ‘วัคซีนเอชพีวี’ ปัจจุบันนี้มีการค้นพบแล้วว่า ไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus:HPV) หรือไวรัสหูดหงอนไก่ ที่ติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งมีหลายสายพันธุ์นั้น บางสายพันธุ์ (สายพันธุ์ที่ 16,18, 31, 33, 45, 52 และ 58) เป็นตัวการหลักทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก จึงได้มีการคิดค้นวัคซีนป้องกันไวรัสตัวนี้ขึ้นมาเพื่อเกราะป้องกันโรคร้ายให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนต่อไป ทีนี้ก็มาถึงข้อความสงสัยมากมายของคุณสุภาพสตรี เรามีคำตอบจากคุณหมอมาฝากครบค่ะ

    - วัคซีนนี้ทำงานอย่างไร “วัคซีนชนิดนี้จะป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ตัวที่ 16 กับ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้บ่อยถึงประมาณร้อยละ 70 แต่จะได้ผลต้องฉีดกับคนที่ยังไม่เคยได้รับเชื้อ หรือสรุปให้ง่ายว่า ต้องเป็นคนที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนเท่านั้นครับ”

    - ใครฉีดได้บ้าง “อย่างที่อธิบายไปแล้วว่า คนที่จะฉีดได้ต้องไม่เคยรับเชื้อไวรัสเอชพีวี มาก่อน จึงมีการกำหนดอายุของผู้ที่ควรฉีดอยู่ระหว่าง 9-26 ปี คือเป็นวัยที่คาดว่าจะยังไม่มีเพศสัมพันธ์ แต่ในความเป็นจริง หากคุณอายุ 34 ปี แต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์และกำลังจะแต่งงาน คุณก็ยังสามารถฉีดได้ไม่มีปัญหา ในทางกลับกัน แม้คุณอายุอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด แต่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์แล้วก็มีแนวโน้มที่ได้รับเชื้อไวรัสดังกล่าวแล้วด้วยเช่นกัน การฉีดวัคซีนจึงอาจไม่ช่วยอะไร และทำให้สิ้นเปลืองเปล่าๆ ครับ”

    - ‘ฉีดวัคซีนแล้ว ไม่ป่วยชัวร์!’ ...จริงหรือ “แม้วัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี ป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้เพียงร้อยละ 70 เฉพาะที่เกิดจากไวรัสชนิดนี้เท่านั้น แต่ต้องอย่าลืมว่ายังเหลืออีกร้อยละ 30 ที่วัคซีนป้องกันไม่ได้ ดังนั้นสุภาพสตรีทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว หรืออายุ 35 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูก หรือที่เรียกว่า ‘การตรวจแป๊บสเมียร์’ เป็นประจำทุกปี ไม่ว่าจะเคยรับวัคซีนมาแล้วหรือไม่ก็ตาม เพื่อว่าหากมีเซลล์ผิดปกติที่มีแนวโน้มจะเป็นมะเร็งปากมดลูกเกิดขึ้น จะได้รักษาแต่เนิ่นๆ ครับ”

    - มีลูกแล้ว มีเพศสัมพันธ์แล้วแต่ยังอยากฉีด จะทำได้ไหม “จริงๆ แล้วหากให้ตอบตามหลักการที่ถูกต้อง หากต้องการฉีดจริงๆ ก็ควรไปตรวจด้วยเทคนิคพีซีอาร์ (Polymerase Chain Reaction :PCR) เสียก่อนว่า คุณเคยติดเชื้อไวรัสเอชพีวีตัวที่ 16 และ 18 แล้วหรือยัง หากติดแล้ว ฉีดไปก็อาจไม่มีผลอะไรครับ”
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.cheewajit.com/articleView.aspx?cateId=1&articleId=1774

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น